เกี่ยวกับโครงการ


ระบบสารสนเทศในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม
ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จังหวัดพะเยา




       ในระยะที่ผ่านมาจังหวัดพะเยาได้ประสบอุทกภัยอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้างทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ในเขตเมือง การเกิดน้ำท่วมของจังหวัดพะเยา มี 2 ลักษณะ คือ น้ำล้นตลิ่งในลำน้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำอิง และแม่น้ำยม เป็นต้น ซึ่งจะเกิดน้ำท่วมเมื่อมีพายุพัดเข้ามาทำให้ฝนตกหนักมาก และอีกกรณีเป็นการล้นตลิ่งในลำน้ำสาขาย่อยต่างๆ และมีชุมชนตั้งอยู่ ซึ่งการเกิดในลำน้ำสาขาย่อยมักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีแม้จะมีฝนตกไม่มากนักและเกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างฉับพลันเนื่องจากเป็นต้นน้ำและมีพื้นที่ลาดชัน ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก

        จากรายงานสรุปความเสียหายของอุทกภัยโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยาแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้งบทดลองราชการมากขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม โดยในจังหวัดพะเยามีการติดตั้งระบบตรวจวัดน้ำท่าแบบโทรมาตรน้อยมากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการติดตั้งในลำน้ำเส้นหลัก ซึ่งจะสามารถเตือนภัยได้เฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณลำน้ำเส้นหลักเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยน้ำท่วม ที่สามารถรายงานสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้เตรียมรับสถานการณ์ อพยพอย่างทันท่วงทีและทั่วถึงทั้งพื้นที่จังหวัด

       ด้วยเหตุนี้จังหวัดพะเยา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา จึงได้มอบหมายให้ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จังหวัดพะเยา โดยติดตั้งสถานีวัดน้ำท่าแบบโทรมาตรเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณลำน้ำสาขาโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทำงานนี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว สามารถเตรียมการรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเองได้ทันท่วงที จะเป็นการลดความเสียหายจากภัยน้ำท่วม

       ผลการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนการเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนี้

    1. ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบตรวจวัดข้อมูลการไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายย่อยพร้อมส่งข้อมูลในระยะไกล โดยองค์ประกอบหนึ่งของระบบสารสนเทศในโครงการนี้ ได้มีการติดตั้งสถานีระบบตรวจวัดปริมาณน้ำแบบโทรมาตร มีจุดเด่นคือส่งข้อมูลแบบตามเวลาจริง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำทั้งกรณีน้ำน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยมีระบบตรวจวัด 10 สถานี ติดตั้งในแม่อิง 2 สถานี น้ำแม่ต๊ำ 2 สถานี น้ำร่องช้าง 4 สถานี และน้ำแม่ต๋ำ 2 สถานี ซึ่งได้บูรณาการงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

    2. จัดทำระบบฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่าย เพื่อบริหารจัดการข้อมูลที่ได้รับจากระบบสถานีโทรมาตรตรวจวัด เครื่องแม่ข่ายทำหน้าที่เก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูล สามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ และจัดทำระบบเก็บรวบรวมและการแสดงผลข้อมูลผ่านทางหน้าเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือข้อความสั้นทางมือถือ (SMS)

    พัฒนาระบบการพยากรณ์และการเตือนภัยล่วงหน้าสถานการณ์น้ำท่วม

    4. การดำเนินงานทำโดยโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน โดยได้จัดการประชุมชี้แจงในแต่ละพื้นที่ที่ติดตั้งระบบการตรวจวัด เพื่อกำหนดตำแหน่งสถานีระบบตรวจวัด เมื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดเสร็จแล้ว ได้ทำการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติการใช้งานและบำรุงรักษาระบบให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อร่วมดูแลรักษาให้ใช้งานระบบได้อย่างต่อเนื่อง

    5. พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลกลาง โดยนำผลผลิตที่ได้จากโครงการจัดเก็บในระบบสารสนเทศ นำผลลัพธ์ที่ได้จากระบบฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่าย เชื่อมโยงผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตให้เข้าใจได้ง่ายทางเว็บไซต์ www.pyflood.com

       ผลผลิตที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ จังหวัดพะเยา มีระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเตือนภัยน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนใช้ในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที และฐานข้อมูลที่จะได้ใช้ต่อยอดโครงการอื่น ๆ และสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำในกรณีน้ำท่วม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำจากกว๊านพะเยา